(เรียบเรียงจากการพูดคุยในงาน Doc +Talk ชมภาพยนต์สารคดี The Times of Harvey Milk วันที่ 19 กรกฎาคม 2559 ขอขอบคุณคุณธิดาที่เชิญไปพูดในงานสนุกๆ และ Noom Noom ที่ถ่ายรูปเก็บไว้ให้ครับ)
คำตัดสินของศาลสูงสหรัฐในคดี Obergefell v. Hodges เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2015 ยืนยันความเท่าเทียมในการแต่งงาน (marriage equality) ทำให้คนรักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้ในทั้ง 50 มลรัฐของสหรัฐอเมริกา หลายคนมองว่านั้นคือ “ความฝันอันสูงสุด” ของขบวนการสิทธิความหลากหลายทางเพศ และเป็นต้นแบบของการขับเคลื่อนกฎหมายลักษณะเดียวกันในเมืองไทย แต่เหตุการณ์สังหารหมู่ที่ Pulse Club เมือง Orlando ทำให้ต้องกลับมาคิดกันใหม่ว่า จริงๆ แล้วมันคือจุดหมายปลายทางหรือเป็นจุดเริ่มต้นกันแน่
ภาพยนตร์เรื่อง The Times of Harvey Milk ก็เป็นอีกหน้าที่สำคัญในประวัติศาสตร์การขับเคลื่อนที่ดูเหมือนประสบความสำเร็จ เมื่อมีเกย์ชนะเลือกตั้งเข้าเป็นคณะกรรมการบริหารเมือง เป็นนักการเมืองที่เป็นเกย์เปิดเผยคนแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา แต่ประวัติศาสตร์หน้านี้สุดท้ายก็จบลงด้วยความรุนแรงเช่นกัน ดังนั้นเราจึงน่าที่จะมาทบทวนประวัติศาสตร์ดังกล่าวกันอีกที
ในช่วงทศวรรษ 1950 ชาว LGBT สหรัฐยังต้องหลบซ่อนตัว เพราะถูกสังคมมองว่าผิดปกติเป็นโรคจิต ชอบล่วงละเมิดเด็ก ในสมัยนั้น ยังมีการรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนไม่กี่กลุ่ม โดยมีเป้าหมายเรียกร้องให้รัฐโดยเฉพาะตำรวจเลิกรังควาญพวกเขา และปล่อยให้พวกเขามีชีวิตเหมือนคนอื่นทั่วไป เราจีงอาจเรียกได้ว่าเป็นยุค “Leave us alone”
แต่หลังจากนั้นก็เกิดจุดพลิกผันคือ การลุกฮือของ LGBT ที่บาร์สโตนวอลล์ ในวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ซึ่งถือได้ว่าเป็นผลผลิตหนึ่งของยุคฮิปปี้ Counterculture และ The Beatles การต่อต้านสงครามเวียดนาม ต่อต้านระเบิดนิวเคลียร์ วัยรุ่นทดลองใช้ยาที่มีผลต่อระบบประสาท และที่สำคัญคือ การปลดปล่อยพลังปฏิวัติทางเพศ ที่ให้อิสรภาพทางเพศต่อผู้หญิงเกย์เลสเบี้ยน และสามารถแสดงออกทางเพศได้อย่างเสรี เพราะเพศไม่ต้องผูกติดกับการแต่งงานหรือการมีลูกอีกต่อไป
ในภาพยนตร์เรื่องนี้ มิลค์จึงเรียกร้องให้เกย์เลสเบี้ยนเปิดเผยตัวเอง เพราะเชื่อว่าจะทำให้สังคมเปลี่ยนแปลง นี่คือยุคที่ให้กำเนิด PRIDE คือ ความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตัวเอง เกย์เลสเบี้ยนปลดแอกตนเองเป็นอิสระ ไม่แคร์ที่จะอยู่ในกรอบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมแบบเดิมๆ และเริ่มต้นสร้างวัฒนธรรมของตนเองอย่างเปิดเผย โดยเฉพาะในซานฟรานและนิวยอร์ค นี่คือยุค Liberation หรือการปลดแอกทางเพศ องค์กรสำคัญที่เกิดขึ้นในยุคนี้ คือ Gay Liberation Front ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับประเทศในภูมิภาคอื่นๆ Stonewall จึงถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของยุค Liberation หรือยุค “ปลดแอก”
หลังจากนั้นเกิดจุดพลิกผันอีกครั้ง เริ่มตั้งแต่ปี 1981 เมื่อโรคเอดส์ระบาดคร่าชีวิตคนไปนับหมื่น คนในชุมชน LGBT เสียเพื่อนและคนที่รักไปเหมือนใบไม้ร่วง โดยที่รัฐบาลกลับนิ่งเฉย ชุมชน LGBT จึงรวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับโครงสร้างอำนาจ เรียกร้องสิทธิ โดยใช้กรอบเรื่องสิทธิด้านสุขภาพ นี่คือการเริ่มต้นของยุค Integration หรือยุค “ฉันก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม” เป้าหมายของ Integration คือความเท่าเทียมไม่ถูกเลือกปฏิบัติในด้านสุขภาพ การศึกษา การจ้างงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแต่งงานที่เป็นสถาบันหลักทางสังคมที่มีเกียรติและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ดึง LGBT จำนวนมากให้มามีส่วนร่วมด้วย
ทว่าในการต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิจากการแต่งงาน แม้จะทำลายกรอบรักต่างเพศ (heteronormativity) ได้สำเร็จ แต่กลับต้องแลกกับการเข้าไปอยู่ในกรอบอื่นๆ ที่ยังมีอยู่เหมือนเดิม เช่น กรอบผัวเดียวเมียเดียว (monogamy) กรอบครอบครัวพ่อแม่ลูก (traditional family) กรอบเซ็กซ์ในการแต่งงาน (marital sex) และเพื่อมีลูกสืบเผ่าพันธุ์ (procreation)
ในอีกด้านหนึ่ง ทางฝ่ายขบวนการ Liberation เห็นว่า การถูกกำกับควบคุมให้อยู่ในกรอบนั่นแหละคือตัวปัญหา ทั้งกรอบที่กล่าวไปแล้ว และใหญ่กว่านั้น เช่น กรอบการเห็นแค่สองเพศ (gender binary) กรอบชายเป็นใหญ่ (patriarchy) ดังนั้นแนวทาง Liberation คือการปลดแอกออกจากกรอบเรื่องเพศ ให้คนมีอิสรเสรีเหนือเนื้อตัวร่างกายตัวเอง เช่น อยากแต่งตัว แสดงออกเป็นเพศไหนก็เป็นการตัดสินใจส่วนบุคคล จะมีเซ็กซ์กับใคร กี่คน เมื่อไหร่ ก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล ตราบใดที่ไม่เป็นการหลอกลวงและเต็มใจด้วยกันทุกฝ่าย ไม่ต้องมีรูปแบบตายตัว หรือพิธีกรรม แนวคิดขบวนการ Liberation จึงสอดคล้องกับสิทธิในเนื้อตัวร่างกายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย หรือสิทธิของพนักงานบริการที่จะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย
แน่นอนว่า การปลดแอกแบบนี้ท้าทายบรรทัดฐานสังคมและไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมส่วนใหญ่ แม้แต่ในอเมริกาเอง ในขณะที่เกย์เลสแต่งงานกันได้แล้ว แต่เรื่องพนักงานบริการกลับเงียบ และประเด็นการทำแท้งกลับถอยหลัง จึงอาจพูดได้ว่า ขบวนการ integration ทำให้เป้าหมายการ liberation ลบเลือนไป ตัวตน LGBT ถูกกลืนหายไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมกระแสหลัก
ในขณะเดียวกันคนที่ไม่อยู่ในกรอบสังคม ก็ถูกควบคุม แก้ไข หรือถ้าแก้ไขไม่ได้ก็ต้องตีตราหรือลงโทษ ตัวอย่างในเมืองไทยก็เช่น การกำหนดให้กะเทยเป็นผู้มีความผิดปกติ เช่น ในใบเกณฑ์ทหาร (ที่ต้องต่อสู้กันในศาลปกครอง) การแก้ทอมซ่อมดี้ การไล่เด็กท้องในวัยเรียนออกจากโรงเรียน การไม่ยอมรับพนักงานบริการหรือการทำแท้ง แม้แต่หนังโป๊ เซ็กซ์ทอย เซ็กซ์คลับ ซาวน่าก็ต้องถูกควบคุมจำกัด ทำให้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย
พอเริ่มเข้ามาอยู่ในกรอบสังคม การขับเคลื่อนเรื่องเอดส์ก็มีการกันเลสกับทรานส์เมนออกไป พอมาถึงเรื่องพรบ.คู่ชีวิต (สำหรับคนเพศเดียวกัน) ก็กันทรานส์ออกไป หากจะใช้กฎหมายนี้แต่งงานก็ต้องยอมรับตามเพศกำเนิด (ในขณะที่ถ้าเป็น marriage equality เรื่องเพศไม่ใช่ประเด็น) แม้แต่ในเรื่องการยอมรับของสาธารณะ จะเห็นได้ว่าพรบ.คู่ชีวิตได้รับการสนับสนุนยอมรับจากคนมากขึ้น แต่ พรบ. คำนำหน้านามเพื่อรับรองการเปลี่ยนเพศกลับถูกต่อต้าน เพราะสะเทือนกรอบชายหญิง โดยมักมีข้ออ้างว่าผู้ชายจะถูกหลอกให้แต่งงานกับกะเทย
LGBT ในเมืองไทยเองส่วนใหญ่ก็ชอบอยู่ในกรอบ มีความอนุรักษ์นิยมสูง ต่อต้านสิทธิในการทำแท้ง สิทธิของพนักงานบริการ ถ้าถามว่าทำไม ก็คงต้องตอบว่า เพราะในเมืองไทย นอกจากกรอบทางเพศที่ว่าแล้ว ยังมีกรอบที่แน่นหนากว่ามาครอบไว้อีกชั้นหนึ่ง
พอดีช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิความหลากหลายทางเพศที่ประเทศอุรุกวัย โดยในระหว่างงานเลี้ยงรับรอง กระทรวงการต่างประเทศของเค้าได้จัดศิลปะการแสดงประจำชาติของเขาคือการเต้นแทงโก้มาให้ชม ซึ่งหลายท่านคงเคยได้เห็นมาก่อนว่าเป็นการเต้นรำที่เต็มไปด้วยพลังงานทางเพศระหว่างคู่เต้นหญิงชาย แต่ที่น่าสนุกในวันนั้น คือแทนที่จะเป็นคู่เต้นที่มีฝ่ายชายนำและฝ่ายหญิงเป็นผู้ตามเหมือนปกติ กลับเป็นการคู่ชายกับชายที่ผลัดกันนำผลัดกันตามได้อย่างมีเสน่ห์
เราลองคิดดูเล่นๆ ว่า ถ้ามีงาน LGBT ใหญ่ ในประเทศไทย แล้วเราอยากนำเสนอศิลปะการแสดงประจำชาติอย่างโขน เราจะสามารถจัดโชว์ความสัมพันธ์ของเพศเดียวกันผ่านโขนได้หรือไม่
ถ้าเปรียบเทียบระหว่างโขนกับแทงโก้ คงต้องยอมรับว่า โขนไม่มีพลังงานทางเพศใดๆ ให้เห็น โดยเฉพาะตัวเอกทั้งหลายคือพระรามพระลักษณ์นางสีดา เป็นเทพอวตารที่ไม่แสดงความเป็นมนุษย์ปกติทั่วไป ลำดับไล่ลงมา อย่างทัพลิงจึงเห็นความเป็นธรรมชาติอยู่บ้าง แต่ก็ยังมีข้อจำกัด ถึงหนุมานจะมีบทให้มีอะไรกับสุพรรณมัจฉาที่ต่างเผ่าพันธุ์ได้ แต่จะจัดให้หนุมานมีอะไรกับลิงผู้ชายตัวอื่นๆ ได้หรือเปล่า หรือยิ่งถ้าเป็นพระรามกับมนุษย์ผู้ชาย หรือพระรามกับหนุมาน คงได้เป็นประเด็นระดับชาติร้อนถึงกระทรวงวัฒนธรรมอย่างแน่นอน
ทั้งนี้เพราะโขนไม่ใช่การแสดงธรรมดาๆ ทั่วไป แต่มี “ความศักดิ์สิทธิ์” แบบไทยๆ โขนแสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ระหว่างธรรมะกับอธรรมในมิติแบนราบขาวกับดำอย่างที่คนไทยชอบ และในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงอุดมการณ์ความเป็นไทยได้เป็นอย่างดี ความเป็นไทยที่ว่าคือ การมีกฎเกณฑ์ให้แสดงออก พูดจา ท่าที หรือแม้แต่มีความคิดบางอย่างที่เป็นไปในทางเดียวกันอย่างเคร่งครัด และต้องไม่แสดงออก สื่อสาร มีท่าที หรือความคิดบางอย่างที่ต้องห้ามหรือออกนอกขนบกฎเกณฑ์ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีเรื่องการแบ่งบทบาทความเป็นหญิงชายอย่างชัดเจน หรือการห้ามแสดงออกทางเพศอย่างเปิดเผย พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ รวมถึงพื้นที่ศาสนา พื้นที่วัฒนธรรมทางการ ไม่ใช่พื้นที่ที่เปิดรับต่อ LGBT
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของความเป็นไทยที่เห็นได้ในโขน คือ การจัดลำดับชนชั้นต่างๆ ไว้ไม่เท่ากัน และทุกคนต้องรู้จักสถานะทางสังคมที่ว่านี้ รู้ว่าใครเป็นผู้ใหญ่ผู้น้อย ใครเป็นผู้มีอำนาจ สังคมไทยเต็มไปด้วยวาทกรรมเรื่องบุญวาสนา ความดีงาม ที่กดทับวิถีทางเพศของปัจเจกบุคคลไว้อย่างสิ้นเชิง จะพูดจะแสดงออกได้ก็เฉพาะในพื้นที่ไม่เป็นทางการเท่านั้น สังคมไทยมีกำหนดไว้แล้วว่าอะไรใช่หรือไม่ใช่วัฒนธรรมไทย เหมือนกับที่เร็วๆ นี้ รมต.ท่องเที่ยวบอกว่าชาวต่างชาติมาเที่ยวเมืองไทยเพราะวัฒนธรรมที่สวยงานอย่างเดียว ไม่ได้มาเพื่อหาบริการทางเพศ
ด้วยความคิดอนุรักษ์นิยมในความเป็นไทยเช่นนี้ ยังไงๆ LGBT ก็ไม่สามารถถูกยอมรับได้ว่าเป็นวัฒนธรรมอันดี อย่างมากก็ปล่อยให้อยู่ตามชายขอบ เพราะฉะนั้น คงไม่ต้องมานั่งถามกันว่า ทำไมเมืองไทยไม่มีนักการเมืองเกย์เปิดเผยแบบมิลค์ เพราะพื้นที่การเมืองเป็นพื้นที่ทางการที่มีความสำคัญยิ่ง นั่นคือหน้าที่ในการกำหนดบรรทัดฐานของสังคม ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะมีข่าวเช่นนี้ “ส.ส.เพื่อไทย จวก ส.ส ประชาธิปัตย์ แต๋วแตก ด้านฝ่ายหลังปฏิเสธพัลวัน ยันไม่ได้เป็นแบบที่กล่าวอ้าง แถมชี้ ในเพื่อไทยมีคนเเต๋วแตกมากกว่าอีก”
ด้วยโครงสร้างอำนาจสังคมที่ไม่เท่าเทียมเช่นนี้ เกย์กะเทยจำนวนมากจึงเน้นการเป็นคนดี เป็นกุลเกย์ เพื่อให้เข้ากับกรอบสังคมไทย แม้จะต้องอยู่แถวๆ ชายขอบของกรอบ แต่ LGBT ส่วนใหญ่ก็ยินดี เพราะอยากจะได้พรบ.คู่ชีวิต สิทธิประโยชน์จากการแต่งงาน แทนที่อยากเป็นอิสระจากกรอบ แต่ความพยายามจะ integrate ภายในกรอบความไม่เท่าเทียมเช่นนี้จึงเป็นได้เพียงแค่เพื่อยกระดับตัวเอง ไม่ใช่เพื่อขจัดความไม่เท่าเทียม
นักกิจกรรม LGBT บางคนอาจเพ้อฝันไปว่า เราอยู่ในยุคหลัง Stonewall เข้าสู่ยุคของการ integration เหมือนต่างประเทศ แต่การที่เราไม่ได้ผ่านการปลดแอกให้มีความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีความเป็นคน ไม่ได้มีการสร้างความเคารพต่อกันและกันท่ามกลางอัตลักษณ์ที่แตกต่าง ทำให้แม้แต่การ integration อย่างเท่าเทียมก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ การเสนอกฎหมายพรบ.คู่ชีวิตก็อยู่บนฐานของการสงเคราะห์ เหมือนการโปรยทานทำบุญให้กับผู้ยากไร้อนาถาทางสังคม เมื่อชุมชน LGBT ไม่เห็นด้วยในเชิงเนื้อหาและเรียกร้องให้มีความเท่าเทียมอย่างแท้จริง ก็เลยถูกหาว่าได้คืบจะเอาศอก ไม่รู้จักบุญคุณไปเสียอีก
กล่าวสรุปได้ว่า ตราบใดที่ไม่มีการเลิกทาสเพื่อปลดแอกจาก “ความเป็นไทย” เราก็ไม่มีทางจะได้เห็นความเท่าเทียมของ LGBT ไม่ว่าจะเดินขบวนพาเหรดเกย์ไพรด์ในประเทศนี้กันซักกี่ครั้ง