(โฟนอินรายการ In Her View 8 กรกฎาคม 2559)
ความหลากหลายทางเพศมีที่ยืนในศาสนาหรือไม่ ถ้าในระดับบุคคล คนที่อยากบวชก็คงต้องต่อสู้อธิบายกันไปด้วยข้อมูลเหตุผล อย่างเรื่องห้ามบัณเฑาะก์บวช เคยได้เขียนอธิบายไว้นานแล้วว่าตามคัมภีร์อรรถกถา บัณเฑาะก์หมายถึงคนที่หลั่งอสุจิไม่ได้เพราะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ไม่ได้หมายถึงเกย์กะเทยอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ
แต่คราวนี้อยากมองออกไปนอกบ้านบ้าง ในภาพรวมของการรณรงค์เพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ คงต้องบอกว่าเรื่องที่ยืนในศาสนานั้น บางทีก็อาจไม่จำเป็นต้องไปต่อสู้กับคนที่คัดค้าน อยากมองว่าเป็นการต้องขยับปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงของโลกไปพร้อมๆ กันมากกว่า และไม่ได้จำกัดเฉพาะต่อศาสนาใดศาสนาหนึ่ง
เพราะโลกสมัยนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ศาสนาก็ต้องจัดตำแหน่งแห่งที่ของตัวเอง การที่คนในศาสนาหนึ่งต่อต้านประเด็นความหลากหลายทางเพศอาจแสดงให้เห็นว่า ศาสนานั้นกำลังตามไม่ทันโลกที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะที่น่าเป็นห่วงคือ ถ้าคนในศาสนาไม่เข้าใจว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นสิทธิมนุษยชน มันอาจเป็นอาการของอะไรบางอย่างที่ร้ายแรงกว่า อาจไม่ได้แค่เพิกเฉยต่อประเด็นนี้เท่านั้น แต่ยังเพิกเฉยต่อความรุนแรงหรือการละเมิดสิทธิในด้านอื่นๆ เรื่องนี้มีบทเรียนมาแล้วจากละตินอเมริกาหลายประเทศ ขอยกตัวอย่างประเทศอาร์เจนติน่าก็แล้วกัน
ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเป็นศาสนาหลักของชาวอาร์เจนติน่า คนอาร์เจนติน่าที่เรียกตัวเองว่าเป็นคาทอลิกในปี 1970 อยู่ที่ 91% ทัศนคติของคนในสังคมก็ถูกหล่อหลอมด้วยคริสตจักรคาทอลิกที่พร่ำสอนมาโดยตลอดว่าการรักเพศเดียวกันหรือการแสดงออกข้ามเพศเป็นบาป ในปี 1967 คนรักเพศเดียวกันจึงก่อตั้งกลุ่ม Nuestro Mundo เพื่อต่อต้านการคุกคามจับกุมของตำรวจ และขยายใหญ่ขึ้นเป็น แนวร่วมปลดปล่อยคนรักเพศเดียวกัน โดยสมาชิกส่วนมากจะเป็นปัญญาชนผู้มีอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย เช่น Manuel Puig คนเขียนเรื่อง Kiss of the Spider Woman แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากองค์กรฝ่ายซ้ายกระแสหลักที่มองว่าการรักเพศเดียวกันเป็นผลพวงของระบบทุนนิยม
พอมาถึงช่วงปี 1976-1983 เผด็จการทหารยึดอำนาจเพื่อปกครองอาร์เจนติน่า โดยใช้วาทกรรม กระบวนการจัดระเบียบใหม่แห่งชาติ ซึ่งภายหลังถูกเรียกว่า La Guerra Sucia หรือสงครามสกปรก เพราะมีการลอบสังหาร ทรมาน อุ้มหาย ต่อผู้มีความเห็นต่างทางการเมืองและกลุ่มคนที่ถูกรัฐจัดว่าเป็นคนไม่พึงปรารถนา ไปนับเป็นหมื่นๆ คน รวมทั้งเกย์กะเทยเลสเบี้ยนด้วย ทั้งนี้โดยที่คริสตจักรคาทอลิกที่มีอิทธิพลมหาศาลกลับนิ่งเฉยไม่ทำอะไร แถมยังถูกกล่าวหาว่าให้ความร่วมมือกับรัฐบาลทหาร เช่น บาทหลวงคนสำคัญที่ขื่อว่า Jorge Bergoglio ถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงว่าปล่อยให้ทหารลักพาตัวบาทหลวงหัวก้าวหน้าในปกครองสองคนไปทำทารุณกรรม
พอเผด็จการทหารเสื่อมอำนาจลงหลังแพ้อังกฤษในสงครามหมู่เกาะฟอล์คแลนด์ อาร์เจนติน่าเริ่มกลับมาเป็นประชาธิบไตย รัฐบาล Alfonsín ที่ชูประเด็นสิทธิมนุษยชนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง สังคมอาร์เจนติน่าจึงค่อยๆ กลายเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากต่อสิทธิมนุษยชน มีการตั้งคณะกรรมาธิการสอบสวนหาความจริงในกรณีบุคคลสูญหาย เพื่อเอาผิดกับผู้กระทำผิดในยุคเผด็จการ ความจริงต่างๆ ก็ค่อยๆ ถูกเปิดเผยออกมา รวมทั้งบทบาทของคริสตจักรในการร่วมมือกับรัฐบาลเผด็จการในช่วงนั้น
เรื่องนี้ทำให้คริสตจักรคาโรมันทอลิกมัวหมองเสื่อมความศรัทธาไปเป็นอย่างมากในอาร์เจนติน่า จนเหล่าบาทหลวงต้องประชุมกันและออกประกาศขอโทษต่อสังคมอย่างเป็นทางการในปี 1996 เมื่อรวมถึงประเด็นบาทหลวงในหลายประเทศล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กชายและหญิงและความพยายามปกปิดโดยวาติกัน ทำให้ในการสำรวจเมื่อสองปีก่อนมีชาวอาร์เจนติน่าบอกว่าตัวเองเป็นคาทอลิกลดเหลือเพียง 71% และมีแค่ 20% ที่ไปโบสถ์เป็นประจำ
แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน องค์กรความหลากหลายทางเพศที่ตั้งขึ้นใหม่ในยุคประชาธิปไตยชื่อว่า Comunidad Homosexual Argentina (CHA) ชูประเด็นว่าสิทธิความหลากหลายทางเพศคือสิทธิมนุษยชน และแสดงให้เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนว่า เกย์กะเทยเลสเบี้ยนเป็นผู้ถูกละเมิดสิทธิมายาวนานทั้งในช่วงสงครามสกปรกและก่อนหน้านั้น สังคมเลยได้รับบทเรียนว่าสังคมที่ยอมรับความรุนแรงและการละเมิดสิทธิต่อบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ก็สามารถนำพาตัวเองไปสู่ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิอย่างกว้างขวางได้ไม่ยากเลย ปัจจุบันอัตราการยอมรับต่อคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศในอาร์เจนติน่าสูงขึ้นเกิน 60 %
หลังจากนั้น เมื่อรัฐบาลฝ่ายซ้ายของนายก Zapatero ในสเปนผ่านกฎหมายให้คนรักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้เมื่อปี 2005 ก็ส่งอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนสิทธิความหลากหลายทางเพศในละตินอเมริกาเป็นอย่างมาก ในอาร์เจนติน่าเอง รัฐบาลประธานาธิบดี Nestor Kirchner เริ่มมีนโยบายความเป็นธรรมทางสังคมและความเสมอภาคทางเพศมากขึ้น ต่อเนื่องมาถึงในสมัยประธานาธิบดี Christina Kirchner ผู้เป็นภรรยา องค์กรด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศจึงร่วมกันผลักดันกฎหมายให้คนรักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ในปี 2010 และให้คนสามารถเลือกระบุเพศของตนได้ในปี 2012
ที่น่าสนใจคือ ประธานาธิบดี Christina Kirchner กล้าประกาศจุดยืนตรงข้ามกับคริสตจักรคาทอลิกได้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะผู้ต่อต้านคนสำคัญคือ คาร์ดินัลแห่งบัวโนสไอเรสที่ชื่อว่า Jorge Bergoglio คนที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ แต่คริสตจักรก็ประณามเกย์กะเทยเลสเบี้ยนว่าเป็นคนบาปไม่ได้เต็มปาก เพราะคริสตจักรเองเองก็มีบาดแผลเต็มตัว สุดท้ายก็พ่ายแพ้กระแสสังคม ทำให้อาร์เจนติน่าก้าวกระโดดกลายเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกในเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศ
ดังนั้น การขับเคลื่อนประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศอาจไม่จำเป็นต้องไปต่อสู้เพื่อให้มีที่ยืนเป็นพลเมืองชั้นสองในศาสนาใดศาสนาหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าศาสนานั้นแสดงให้เห็นชัดเจนว่าไม่มีจุดยืนในด้านสิทธิมนุษยชน แต่ว่าสิ่งที่องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศน่าจะเป็นห่วงมากกว่า คือจะทำอย่างไรให้สิทธิความหลากหลายทางเพศได้มีที่ยืนอย่างสง่างามในขบวนสิทธิมนุษยชนทั้งหมด ที่เรียกร้องสิทธิของคนทุกคนเพราะเห็นคนเท่ากัน ไม่ใช่เรียกร้องให้ได้แต่สิทธิของตัวเองในบรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่อย่างนั้นก็อาจต้องตกขบวนประวัติศาสตร์ไปเหมือนกับศาสนาที่ไปยืนข้างผิด
ขอปิดท้ายด้วยว่า คาร์ดินัล Jorge Bergoglio ที่กล่าวถึง ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในนามโป๊ปฟรานซิส ซึ่งเร็วๆ นี้ ท่านเพิ่งกล่าวว่า คริสจักรโรมันคอทอลิกควรจะต้องขออภัยไม่เพียงเฉพาะต่อเกย์ แต่ต่อกลุ่มคนอื่นๆ ที่คริสตจักรในอดีตควรจะปกป้องแต่ไม่ได้ทำ รวมถึง ผู้หญิง และคนยากจนด้วย
(ภาพด้านบนคือ โป๊ปฟรานซิส กับเผด็จการ Videla)